วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

พิณอีสาน

 
 
 

พิณอีสาน

 
 
 
 
 
 
         พิณ เป็นเครื่องดนตรีประเภทสายดีดที่มีมานาน นานจนไม่อาจทราบได้ว่า ใครเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นเป็นคนแรก เครื่องดนตรีที่มีหลักการเช่นเดียวกันนี้ พบในหลายๆ ประเทศ แต่ชื่อเรียก ย่อมแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติภาษา และรูปร่างปลีกย่อยอาจแตกต่างกันไปเช่นกัน

        พิณ ที่จะกล่าวถึงในที่นี้ เฉพาะพิณของชาวอีสาน ซึ่งแม้แต่ชาวอีสานเอง ก็เรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้แตกต่างกันออกไป เช่น แถบอุบล เรียกว่า “ซุง” ชัยภูมิเรียกว่า “เต่ง” หรือ “อีเต่ง” หนองคาย เรียกว่า “ขจับปี่” เป็นต้น แต่ชื่อสามัญที่คนทั่วไปใช้เรียก คือ “พิณ” นั่นเอง

        พิณสมัยก่อน มีเฉพาะพิณโปร่ง นิยมทำจากไม้ขนุน เนื่องจาก ให้เสียงกังวานใสดี เกิดกำทอนดี ไม้ขนุน เนื้อไม่แข็งมาก ใช้มีด ใช้สิ่วเจาะทำพิณได้ไม่ยาก จริงๆ แล้ว ไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ไม้มะหาด ไม้ยูง ก็ให้เสียงกังวานใสดีเช่นกัน แต่เนื้อไม้ค่อนข้างแข็งมาก และค่อนข้างหายาก จึงไม่นิยมนำมาทำพิณ ไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ไม้มะเหลื่อม ไม้ฉำฉา เป็นต้น ก็ทำพิณได้เช่นกัน แต่เสียงอาจจะไม่แน่นดี ซึ่งหากจะเอาแค่ดีดแล้วมีเสียงดัง จะใช้ไม้อะไรก็ได้ที่ขึงสายแล้วตัวพิณไม่หัก นอกจากนั้น ช่างทำพิณบางคน อาจทำเต้าพิณจากกะลา น้ำเต้า บั้งไม้ไผ่ กระดองเต่า ใช้หนังสัตว์ เช่นหนังงู เป็นต้น ทำเป็นแผ่นประกบปิดเต้าพิณ

        พิณสมัยปัจจุบัน มีทั้งพิณโปร่ง พิณไฟฟ้า และพิณโปร่งไฟฟ้า

       สายพิณ สมัยโบราณ เข้าใจว่า คงใช้เชือกหรือหนัง จากนั้น เมื่อมีรถจักรยานแล้ว ก็หันมาใช้สายเบรกรถจักรยานแทน แต่ปัจจุบัน เนื่องจากมีผู้ผลิตสายกีตาร์จำหน่าย จึงหันมาใช้สายกีตาร์โปร่งสำหรับพิณโปร่ง สายกีตาร์ไฟฟ้าสำหรับพิณไฟฟ้า

พิณ มีเสียงกังวานสดใส สามารถบรรเลงเพลงได้ทั้งจังหวะอ่อนหวาน เศร้ารันทด และสนุกสนานครื้นเครง เข้าถึงอารมณ์แบบพื้นบ้าน พิณจึงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่งของคนอีสาน



 
ฝรั่งยังชอบพิณอีสานเลยครับ
 

พิณ อาจจำแนกประเภทได้หลายลักษณะ เช่น

 

 

พิณโปร่ง
          พิณโปร่ง หมายถึงพิณซึ่งเต้าพิณมีรูโพรง เพื่อให้เกิดเสียงดังตามธรรมชาติ หากต้องการใช้พิณโปร่งต่อกับเครื่องเสียง ก็ต้องใช้ไมค์เล็กๆ มาต่อเข้ากับพิณโปร่ง แต่ข้อเสียของการใช้ไมค์คือ เมื่อปิกสัมผัสกับสายพิณ หรือมือผู้ดีดกระทบกับเต้าพิณ อาจเกิดเสียงรบกวนที่ไม่พึงประสงค์ได้



 
 
พิณไฟฟ้า

             พิณไฟฟ้า หมายถึงพิณซึ่งเต้าพิณไม่มีรูโพรง แต่ติดอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า คอนแท็ก และอื่นๆ ที่เต้าพิณแทน โดยพิณไฟฟ้า จะต้องต่อกับอุปกรณ์กำเนิดเสียงไฟฟ้าเท่านั้น จึงจะให้เสียงดัง เมื่อดีดเปล่า แทบจะไม่ได้ยินเสียงเลย


 
 
พิณโปร่งไฟฟ้า

             พิณโปร่งไฟฟ้า หมายถึง พิณโปร่งกับพิณไฟฟ้าผสมกัน คือ นำพิณโปร่งมาติดคอนแท็ก เพื่อให้สามารถนำพิณโปร่ง ไปต่อเข้าเครื่องเสียงได้ ซึ่งพิณโปร่งมีเสียงกังวานอยู่แล้ว เมื่อติดคอนแท็กเข้าไปก็จะให้เสียงกังวาน ไพเราะไปอีกแบบ

 


ในการเลือกซื้อพิณ ควรคำนึงถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ดังนี้

  1. ตัวพิณ คอพิณ หัวพิณ ต้องเรียบเนียน กลมกลึง สวยงาม ถูกใจผู้ใช้

  2. ขั้นแบ่งเสียง ไม่สูงเกินไป ติดกับแนวคอพิณเรียบสนิทดี และหัวท้ายของขั้นแบ่งเสียง ต้องไม่โผล่พ้นแนวคอพิณออกมา

  3. ขั้นพิณ ต้องติดได้ตรงสเกลเสียงที่ถูกต้อง เมื่อลองดีดไล่โน้ตแล้ว เสียงต้องไม่เพี้ยน

  4. ระดับความสูงของขั้นแบ่งเสียง ต้องสมดุลกัน เมื่อจับโน้ตใดๆ แล้ว สายพิณต้องไม่โดน หรือไม่สัมผัสกับขั้นแบ่งเสียงอื่นด้านใน

  5. หย่องหน้าและหย่องหลัง ไม่สูงจนเกินไป ต้องสูงสมดุลกับขั้นแบ่งเสียง

  6. พิณโปร่ง ถ้าให้ดี ควรเลือกที่ทำจากไม้ขนุน โดยแผ่นประกบหน้า ก็ควรเป็นไม้ขนุนด้วย ซึ่งแผ่นประกบหน้า ต้องบาง

  7. พิณโปร่ง เมื่อลองดีดดูแล้ว เสียงต้องกังวานใส ไพเราะ

  8. พิณไฟฟ้าที่ดี ควรติดขั้นแบ่งเสียงแบบฝังในเนื้อไม้คอพิณ (เหมือนกีตาร์)

  9. คุณภาพเสียงของพิณไฟฟ้า สำคัญอยู่ที่ตัวคอนแท็ก ถ้าคอนแท็กดี เสียงก็ดีด้วย ดังนั้น การเลือกซื้อพิณไฟฟ้า ต้องดูคอนแท็กด้วย

  10. พิณไฟฟ้า เมื่อเสียบสายแจ็ค เปิดเครื่องเสียงแล้ว ไม่ควรเกิดเสียงครางหรือเสียงอื่นรบกวน

  11. เมื่อเลือกตัวพิณที่ดีได้แล้ว ที่เหลือ เป็นเรื่องของสายพิณ และการดูแลรักษาพิณ

 

       สำหรับผู้ที่สนใจพิณอีสาน ก็หาเลือก มาลองเล่นดูนะครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น